วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

ปะการังใต้ท้องทะเล

ปะการังใต้ท้องทะเล

 
 
               ปะการังเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ บริเวณชายฝั่งทะเลเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์ทะเลจำนวนมาก เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์วางไข่ และหลบภัยของสัตว์ทะเล นอกจากนั้นปะการังยังมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล การประมง และมีส่วนสำคัญในการรักษาสภาพสมดุล ธรรมชาติของแนวชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบแนวชายฝั่ง ความสวยงามของแนวปะการังยังช่วยในด้านการพักผ่อนหย่อนใจและเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งปะการังที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้เป็นพืชหรือสัตว์ทะเลกันแน่
              นิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมง 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน อธิบายว่า ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงสร้างภายนอกเป็นหินปูนเปรียบเสมือนกระดูก ซึ่งหินปูนจะเป็นส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อของตัวปะการัง โดยทั่วไปตัวปะการังจะมีรูปทรง เป็นทรงกระบอกเล็กๆ แต่ละกระบอกจะมีช่องเล็กๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของปะการังแต่ละตัว ที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยดักจับสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เช่น แพลงตอน เป็นอาหาร ดังนั้น เวลาน้ำลด ปะการังก็จะหดตัวเข้าไปอยู่ในช่องซึ่งถือเป็นบ้านของปะการัง จะเห็นว่าในปะการัง 1 ก้อน 1 กอ หรือ 1 แผ่น ประกอบไปด้วยปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน
              ปะการังสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ โดยการปล่อยไข่และเสปิร์มออกมาผสมกัน เมื่อไข่ได้รับการผสมเรียบร้อยแล้วก็จะเกิดเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนก็จะลอยไปตามกระแสน้ำจนกว่าจะหาที่จับเกาะได้ และจะก่อสร้างบ้านใหม่ขึ้นมา อีกแบบหนึ่ง คือ แบบไม่อาศัยเพศ จะใช้การแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ ตามลักษณะรูปร่างของปะการังแต่ละชนิด ปะการังที่พบทั่วไปมีพัฒนาการของการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มปะการัง หรือแนวปะการัง ซึ่งแนวปะการังจะเกิดจากการขยายพื้นที่ของปะการังชนิดต่างๆ
            ในเรื่องความงดงามของแนวปะการังนั้นประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แนวปะการังที่งดงามและมีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือแนวปะการังของหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ ปัจจุบันมีการนำทรัพยากรชายฝั่งมาใช้ประโยชน์มากขึ้นทำให้แนวปะการังตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างน่าเป็นห่วง ถ้าหากว่าปะการังถูกทำลายหรือตายไปต้องใช้เวลานานมากกว่าจะพื้นคืนสภาพขึ้นมาได้

วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556


1 ความคิดเห็น: